พระเครื่อง

     ” ดูกรอานนท์  ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอทั้งหลาย ธรรมวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย โดยกาลล่วงไปแห่งเรา “

พระ25พุทธศตวรรษ

 

          พระเครื่อง“ฉลอง25พุทธศตวรรษ”  หนึ่งในสุดยอดพระเครื่องที่สร้างขึ้นในมหาพิธีอันยิ่งใหญ่ที่มีพระเกจิอาจารย์ดังทั่วประเทศ 108 รูป ร่วมมหาพิธีพุทธาภิเศก พระเครื่อง 25 พุทธศตวรรษ จึงนับเป็นหนึ่งใน ‘สุดยอดพระเครื่อง’ ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง

 

องค์พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์

 

          ย้อนไปในอดีต เมื่อปี พ.ศ.2500 มีงานเฉลิมฉลองอันยิ่งใหญ่งานหนึ่งเนื่องในโอกาสสำคัญยิ่งทางพุทธศาสนา เพื่อฉลองวาระกึ่งพุทธกาล เมื่อ พ.ศ. 2500  เรียกชื่อกันว่า “ งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ” หรือ พุทธชยันตี 2500 ปี  เนื่องด้วยพุทธศาสนาผ่านพ้นมาแล้วกึ่งพุทธกาล โดยวัตถุประสงค์การจัดงานนั้นก็เพื่อต้องการเฉลิมฉลองวาระอันสำคัญ และเพื่อให้เมืองไทยเป็นศูนย์กลางทางพุทธศาสนาแห่งโลกโดยมีการจัดสร้าง “พระประธานพุทธมณฑล” เป็นพระพุทธรูปปางลีลา ความสูง 2,500 นิ้ว (62.50 เมตร) พระนาม “พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑล” บนเนื้อที่ 2,500 ไร่ ที่ ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ซึ่งก็คือ ‘พุทธมณฑล’ ในปัจจุบันนั่นเอง

 

          พระเครื่องฉลอง 25 พุทธศตวรรษ  นับได้ว่า เป็นพระเครื่องที่มีพิธีมหาพุทธาภิเษกที่ยิ่งใหญ่มากรุ่นหนึ่งสำหรับวงการพระเครื่อง โดยมีสมเด็จพระราชาคณะ,พระราชาคณะ เจริญพระพุทธมนต์ 25 รูป พระคณาจารย์ปลุกเสกพุทธาคมครบ 108 รูป พระคณาจารย์ 108 รูปนี้ ได้อาราธนามาจากจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย พระคณาจารย์แต่ละรูปล้วนแล้วแต่มีชื่อเสียงทั้งสิ้น

 

          พระเครื่อง 25 พุทธศตวรรษ  เป็นสุดยอดพระเครื่องที่น่าหามาบูชาอย่างยิ่ง เนื่องด้วยพิธีที่ยิ่งใหญ่ เจตนาและวัตถุประสงค์ในการสร้างที่ดี  รวมไว้ซึ่งสถาบันสำคัญของประเทศ คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช(รัชกาลที่9) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์สร้างพุทธมณฑลเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 และเสด็จฯ ทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระพุทธรูปจำลอง “พระพุทธปฏิมาประธานพุทธมณฑล” และทรงกดพระพิมพ์ พระเครื่อง 25 พุทธศตวรรษ เนื้อดินผสมเกสรจำนวน ๓๐ องค์ ณ มณฑลพิธีวัดสุทัศนเทพวราราม เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 พระ 25 พุทธศตวรรษ สร้างขึ้นเมื่อปี 2500 วัตถุประสงค์เพื่อหารายได้สร้าง พุทธมณฑล ที่ศาลายา จ.นครปฐม เพื่อให้เป็นศูนย์กลางแห่งพระพุทธศาสนาในเมืองไทย

 

          พร้อมกันนั้น ได้มีการจัดสร้างพระเครื่องจำลององค์พระประธานปางลีลาอีกมากมายหลายชนิด โดยมี พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ เป็นประธานฝ่ายจัดสร้าง ขนานนามตามชื่องานว่า “พระเครื่อง 25 พุทธศตวรรษ” มีอาทิ พระพุทธรูปบูชาทองคำแบบพุทธลีลา, พระเครื่องเนื้อทองคำ สร้างจำนวน 2,500 องค์ , พระเนื้อชิน จำนวน 2,421,250 องค์, พระเนื้อดิน (เนื้อดินผสมเกสร) จำนวน 2,421,250 องค์ นอกจากนี้ยังได้สร้างพระเนื้อนากและเนื้อเงิน อีกจำนวนหนึ่งไม่มากนัก เพื่อแจกพระเกจิอาจารย์ที่มาร่วมพิธีปลุกเสกและคณะกรรมการ ซึ่งปัจจุบันแทบจะหาองค์แท้ได้ยากยิ่ง นอกจากนี้ทางกองกษาปณ์ยังได้สร้าง ‘เหรียญใบเสมา 25 พุทธศตวรรษ’ ขึ้นมาสมทบอีกด้วย

 

          พิธีมหาพุทธาภิเษก นับได้ว่ายิ่งใหญ่และเข้มขลังสุดๆ ในยุคนั้น จัดขึ้นถึง 2 วาระ เป็นอย่างน้อย และครบถ้วนตามพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาทุกประการ

          วาระที่1  ในวันที่ 9-12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500  ณ พระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม  สมเด็จพระวันรัต สังฆนายก จุดเทียนชัย พระอาจาย์ 108 รูป เข้าในพิธีมณฑล นั่งปรกปลุกเศกตลอดคืน โดยได้มีการนำมวลสารศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมดมาอธิษฐานปลุกเสก

           ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2500 เวลา 16 นาฬิกา 30 นาที พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช(รัชกาลที่9) เสด็จฯ มายัง วัดสุทัศนเทพวราราม เสด็จขึ้นบนพระวิหาร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระศรีศากยมุนี แล้วเสด็จฯ ไปยังพระอุโบสถทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย สมเด็จพระราชาคณะ และ พระราชาคณะ ถวายศีลจบแล้วเจริญพระพุทธมนต์ ทรงจุดเทียน มหามงคล โหรบูชาฤกษ์ เวลา 17 นาฬิกา 8 วินาที ถึงเวลา 17 นาฬิกา 17 นาที เสด็จฯ ไปยังมณฑลพิธีหน้าพระอุโบสถทรงเททองหล่อ “พระพุทธรูปทองคำแบบพุทธลีลา 4 องค์” และทรงพิมพ์ “พระเครื่องฉลอง 25 พุทธศตวรรษ” ชนิด “พระเนื้อดินผสมผงเกสร 30 องค์” เป็นปฐมฤกษ์ โหรลั่นฆ้องชัย เจ้าพนักงานประโคมสังข์แตร และดุริยางค์ สมเด็จพระราชาคณะและพระราชาคณะ 25 รูป เจริญชัยมงคลคาถา พระราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณหลั่งน้ำพระมหาสังข์ เสด็จฯ กลับเข้าพระอุโบสถ สมเด็จพระราชาคณะ และพระราชาคณะ ถวายอดิเรกจบแล้วเสด็จฯ กลับ พระสงฆ์ 25 รูป เจริญพระพุทธมนต์จบแล้ว “พระคณาจารย์ 108 รูป” นั่งปรกปลุกเสกบรรจุพุทธาคมต่อตลอดคืน” วันที่12 ประธานฯ ถวายภัตตาหารแด่สมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะและพระคณาจารย์ที่มาทำพิธีในครั้งนี้ทั้งหมด เมื่อพระสงฆ์ทำภัตกิจเสร็จแล้ว สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดสระเกศ ดับเทียนชัย ประธานฯ ถวายจตุปัจจัยไทยธรรม สมเด็จพระราชาคณะ พระราชาคณะ และพระคณาจารย์อนุโมทนา เป็นเสร็จพิธี

          วาระที่ 2  วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2500 นำพระเครื่องทั้งหมดเข้าพิธีพุทธาภิเษกอีกครั้งในพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม มี สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศมหาวิหาร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีสมัยนั้น เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นประธานการดำเนินงานสร้าง  พร้อมสมเด็จพระราชาคณะเจริญพุทธมนต์ 25 รูป พระเกจิคณาจารย์ชื่อดังจากทั่วประเทศร่วมปลุกเสกบรรจุพุทธาคมครบ 108 รูป รวม 2 วาระ เป็นเวลาทั้งสิ้น 6 วัน 6 คืน

          พิธีวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

            พิธีท้องสนามหลวง

 

          งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ หรือ พุทธชยันตี 2500 ปี  (2500th Buddha Jayanti Celebration) ระหว่างวันที่ 12 – 18 พฤษภาคม พ.ศ.2500 ณ ท้องสนามหลวง เป็นช่วงเวลางานฉลองสำคัญทางพระพุทธศาสนา ที่จัดขึ้นในปี พ.ศ. 2500 เนื่องในโอกาสงานฉลองกึ่งพุทธกาล เนื่องจากความเชื่อโบราณว่าพระพุทธศาสนาจะดำรงอยู่ 5000 ปี แล้วจักเสื่อมสลายลง

         งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ในประเทศไทย ได้มีการเตรียมการล่วงหน้ากว่า 5 ปี นับแต่ปี พ.ศ. 2495 มีการสร้างอนุสรณ์สถานพุทธมณฑล และการจัดกิจกรรมมากมายเพื่อเฉลิมฉลองพร้อมกันกับประเทศ ศรีลังกา อินเดีย พม่า เนปาล และประเทศที่มีประชากรนับถือพระพุทธศาสนาทั่วโลก โดยในประเทศอื่นใช้คำว่า “พุทธชยันตี 2500 ปี”

         โดยในวันที่ 12-13-14 พฤษาภาคม 2500 นั้น ได้มีพระภิกษุสงฆ์มาร่วมพิธีวันละ 2,500 รูป มีประรำพิธีที่ท้องสนามหลวง คืนวันที่ 13 พฤษภาคม 2500 จัดให้มีพิธีเวียนเทียนและพิธีฉลอง

 

เหรียญพระ25พุทธศตวรรษ เนื้อชิน พระ25พุทธศตวรรษ เนื้อดิน

 

          พระเครื่องฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ประกอบด้วย

              1) พระพุทธรูปบูชาทองคำแบบพุทธลีลา ลักษณะเดียวกับพระองค์ใหญ่ ซึ่งจะสร้างที่พุทธมณฑล สูงองค์ละ 9 ซ.ม. 4 องค์ ทองคำหนักรวมทั้งสิ้น 55 บาท พระพุทธรูปทองคำนี้ได้ให้กองพระกษาปณ์ กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เป็นผู้จัดสร้าง 

              2) เหรียญพระ 25 พุทธศตวรรษ จัดสร้างเป็น

                 เนื้อทองคำ ( น้ำหนัก ประมาณ 6 สลึง ) จำนวน 2,500 องค์

                 เนื้อทองคำ ( น้ำหนัก ประมาณ 1 บาท ) จำนวน 15  องค์

                 เนื้อนาก จำนวน 30 องค์

                 เนื้อเงิน จำนวน 300 องค์

              3) เหรียญพระ 25 พุทธศตวรรษ – เนื้อชิน  มีการจัดสร้าง จำนวน 2,421,250 องค์

                 อันประกอบด้วย พลวง, ดีบุก, ตะกั่วดำ ผสมด้วยนวโลหะ คือ ชินหนัก 1 บาท , เจ้าน้ำเงินหนัก 2 บาท , เหล็กละลายตัวหนัก 3 บาท (เหล็ก)บริสุทธิ์ หลัก 4 บาท , ปรอท หนัก 5 บาท , สังกะสีหนัก 6 บาท , ทองแดงหนัก 7 บาท , เงินหนัก 8 บาท, ทองคำหนัก 9 บาท,

ตลอดจนแผ่นทองแดง,ตะกั่ว,เงินที่พระอาจารย์ต่างๆ เกือบทั้งราชอาณาจักรได้ลงเลขยันต์คาถา ส่งมาให้และเศษชนวนหล่อพระในพิธีแห่งอื่นๆ รวมหล่อผสมลงไปในคราวนี้ด้วย

              4) พระผง หรือเนื้อดิน มีจำนวน 2,421,250 องค์

ผสมด้วยผงเกษรดอกไม้ 108 อย่าง ตลอดจนผสมด้วยดินหน้าพระอุโบสถ  จากพระอาจารย์ต่างๆ ทั่วราชอาณาจักรและผงพุทธาคมต่างๆ ที่บรรดาพระอาจารย์ได้มอบให้มา  รวมทั้งพระผงต่างๆ แบบของโบราณและของพระอาจารย์ต่างๆ ที่ได้สร้างไว้แต่โบราณกาล อันได้ส่งอุทิศมาให้ผสมรวมเป็นผงในครั้งนี้ด้วยมากมายหลายแห่ง

              ลำดับสี การเผาดินพระเครื่อง 25 พุทธศตวรรษ จากเริ่มจนถึงสุดท้าย สีจะเข้มจนดำไปในที่สุด

 

          แม่พิมพ์ของพระเนื้อชินและเนื้อดิน ใช้แบบจากการชนะการประกวดการออกแบบโดย อาจารย์ ชิต เหรียญประชา ศิลปินแห่งชาติ

 

              5) เหรียญเสมา  พระลีลา 25 พุทธศตวรรษ เนื้อทองคำ  

              6) เหรียญเสมา  เนื้ออัลปาก้า 2,000,000 องค์ 

 

พระเครื่องพระ25ศตวรรษ

 

          จำนวน 4,842,500 องค์ มีความหมาย คือ

              1) เลข 4 ในหลักล้าน เป็นจุดเริ่มต้นมีความหมายว่า “สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าพระบรมศาสดาเอกของโลก” ตรัสรู้ “อริยสัจสี่” คือ “ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค” คือหลักความเป็นจริงอันเป็นสิ่งประเสริฐทำให้ห่างไกลจากศัตรูซึ่งก็คือ (กิเลส)

              2) เลข 8 และเลข 4 ในหลักแสนและหลักหมื่น มีความหมายว่า “พระอริยสัจสี่” (ความจริง 4 ประการของพระอริยเจ้า) ที่สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ ขออธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือจำนวน 84,000 พระธรรมขันธ์ ตรงกับความจริงอันประเสริฐ (4 ประการ) ที่ สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ แต่ต้องการให้จำนวนตัวเลขปิดท้ายตรงกับจำนวน พระพุทธศาสนายุกาล (อายุของพระพุทธศาสนา) 5,500 ปี จึงขยับ เลข 8 มาอยู่ที่หลักแสนและ เลข 4 มาอยู่ที่หลักหมื่น

              3) เลข 2 และเลข 5 ในหลักพันและหลักร้อย ก็คือจำนวนปีที่พระพุทธศาสนายุกาล (อายุของพระพุทธศาสนา) ได้ยืนยงดำรงคงอยู่มาถึง 2,500 ปี แสดงให้เห็นว่า “พระอริยสัจสี่” หรือ “ความจริงอันประเสริฐ” ที่ สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าพระบรมศาสดาเอกของโลก ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองและทรงนำมาประกาศสั่งสอนเผยแพร่ภายในระยะเวลา 45 ปีแห่งพระชนม์ชีพของพระองค์ ได้มีอายุยืนยาวมาถึง 2,500 ปีแล้วภายหลังพุทธปรินิพพานเป็นต้นมา 

 

รวมสุดยอดพระเกจิทั่วราชอาณาจักร

          คณาจารย์ 108 รูป ได้อาราธนามาจากจังหวัดต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร

          รายนามพระอาจารย์ที่ร่วมมหาพิธีพุทธาภิเษกพระเครื่องในงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ซึ่งได้สร้างเสร็จสิ้นแล้ว ณ พระอุโบสถ วัดสุทัศนเทพวรารามมหาวิหาร เมื่อวันที่ 2-3 และ 4 พฤษภาคม 2500 รวม 3 วัน มีดังนี้คือ

  1. พระครูอาคมสุนทร  วัดสุทัศนเทพวรารามฯ  อ.พระนคร จ.พระนคร
  2. พระครูสุนทรสมาธิวัตร  วัดสุทัศนเทพวรารามฯ  อ.พระนคร จ.พระนคร
  3. พระญาณาภิรัต  วัดสุทัศนเทพวรารามฯ   อ.พระนคร จ.พระนคร
  4. พระครูพิบูลย์บรรณวัตร  วัดสุทัศนเทพวรารามฯ   อ.พระนคร จ.พระนคร
  5. พระครูสุนทรศีลาจารย์  วัดสุทัศนเทพวรารามฯ   อ.พระนคร จ.พระนคร
  6. พระครูพิศาลสรกิจ วัดสุทัศนเทพวรารามฯ      อ.พระนคร จ.พระนคร
  7. พระมหาสวน  วัดสุทัศนเทพวรารามฯ    อ.พระนคร จ.พระนคร
  8. พระอำนวย  วัดสุทัศนเทพวรารามฯ      อ.พระนคร จ.พระนคร
  9. พระปลัดสุพจน์ ( หลวงพ่อสุพจน์ )  วัดสุทัศนเทพวรารามฯ อ.พระนคร จ.พระนคร
  10. พระครูวิสิษฐ์วิหารการ  วัดชนะสงคราม     อ.พระนคร จ.พระนคร
  11. พระสุธรรมธีรคุณ (หลวงพ่อวงษ์) วัดสระเกศ   อ.พระนคร จ.พระนคร
  12. พระอาจารย์สา ( หลวงพ่อสา ) วัดราชนัดดาราม อ.พระนคร จ.พระนคร
  13. พระปลัดแพง  วัดมหาธาตุฯ            อ.พระนคร จ.พระนคร
  14. พระวิสุทธิสมโพธิ ( เจ้าคุณเจีย วัดโพธิ์ท่าเตียน )  วัดพระเชตุพนฯ   อ.พระนคร จ.พระนคร
  15. พระวรเวทย์คุณาจารย์ ( หลวงพ่อเมี้ยน วัดโพธิ์ท่าเตียน ) วัดพระเชตุพนฯ อ.พระนคร จ.พระนคร
  16. พระครูฐาปนกิจประสาท วัดพระเชตุพนฯ   อ.พระนคร จ.พระนคร
  17. พระอินทรสมาจารย์  วัดพระเชตุพนฯ  อ.พระนคร จ.พระนคร
  18. พระครูวินัยธรเฟื่อง ( หลวงพ่อเฟื่อง ) วัดสัมพันธ์วงศ์ อ.พระนคร จ.พระนคร
  19. พระครูภักดิ์ (หลวงพ่อภักตร์)  วัดบึงทองหลาง อ.พระโขนง จ.พระนคร
  20. พระครูกัลญาณวิสุทธิ (หลวงพ่อกึ๋น) วัดดอนทวาย      อ.ยานนาวา จ.พระนคร
  21. พระอาจารย์มี  วัดสวนพลู     อ.ยานนาวา จ.พระนคร
  22. พระอาจารย์เหมือน ( หลวงปู่เหมือน ) วัดโรงหีบ อ.บางเขม จ.พระนคร
  23. พระหลวงวิจิตร วัดสะพานสูง     อ.ดุสิต จ.พระนคร
  24. พระอาจารย์หุ่น ( หลวงปู่หุ่น วัดนวลจันทร์ ) วัดบางขวด อ.มีนบุรี จ.พระนคร
  25. พระราชโมลี (หลวงปู่นาค) วัดระฆัง  อ.บางกอกน้อย จ.ธนบุรี
  26. หลวงวิชิตชโสธร วัดสันติธรรมาราม    จ.ธนบุรี
  27. พรครูโสภณกัลญานุวัตร (หลวงพ่อเส่ง) วัดกัลญาณมิตร      จ.ธนบุรี
  28. พระครูภาวนาภิรัต ( เจ้าคุณผล ) วัดหนัง อ.บางขุนเทียน จ. ธนบุรี
  29. พระครูทิวากรคุณ (หลวงพ่อกลีบ) วัดตลิ่งชัน      อ.ตลิ่งชัน จ.ธนบุรี
  30. พระครูไพโรจน์วุฒิคุณ ( หลวงพ่อฑูรย์ ) วัดโพธินิมิตร จ.ธนบุรี
  31. พระครูญาณสิทธิ์ ( หลวงพ่อเชื้อ ) วัดราชสิทธาราม อ.ตลิ่งชัน จ.ธนบุรี
  32. พระอาจารย์มา วัดราชสิทธาราม   อ.ตลิ่งชัน จ.ธนบุรี
  33. พระอาจารย์หวน ( หลวงพ่อหวน ) วัดพิกุล อ.ตลิ่งชัน จ.ธนบุรี
  34. พระมหาธีวัฒน์  วัดปากน้ำ อ.ภาษีเจริญ จ.ธนบุรี
  35. พระอาจารย์จ้าย  วัดปากน้ำ   อ.ภาษีเจริญ จ.ธนบุรี
  36. พระอาจารย์อินทร์  วัดปากน้ำ อ.ภาษีเจริญ จ.ธนบุรี
  37. พระครูกิจจาภิรมย์ วัดอรุณราชวราราม อ.บางกอกใหญ่ จ.ธนบุรี
  38. พระครูวินัยสังวร วัดประยูรวงศวาส อ.ธนบุรี จ.ธนบุรี
  39. พระสุขุมธรรมาจารย์ วัดหงษ์รัตนราม  อ.ธนบุรี จ.ธนบุรี
  40. พระครูพรหมวินิต ( หลวงพ่อกล้าย ) วัดหงษ์รัตนาราม อ.ธนบุรี จ.ธนบุรี
  41. พระอาจารย์อิน ( หลวงพ่ออิน ) วัดสุวรรณอุบาสิการ อ.คลองสาน จ.ธนบุรี
  42. พระครูวิริยกิจ ( หลวงปู่โต๊ะ ) วัดประดู่ฉิมพลี  อ.คลองสาน จ.ธนบุรี
  43. พระปรีชานนทมุนี ( หลวงปู่เผือก ) วัดโมลี อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี
  44. พระครูปลัดแฉ่ง ( หลวงพ่อแฉ่ง วัดบางพัง ) วัดศรีรัตนาราม อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
  45. พระปลัดยัง ( หลวงพ่อบุญยัง ) วัดบางจาก อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
  46. พระอาจารย์สมจิต วัดป่ากระเหรี่ยง   จ.ราชบุรี
  47. พระอาจารย์แทน (หลวงพ่อแทน) วัดธรรมเสน  อ.เมือง จ.ราชบุรี
  48. พระครูบิน ( หลวงพ่อบิล ) วัดแก้ว อ.บางแพ จ.ราชบุรี
  49. พระอินทร์เขมาจารย์  ( หลวงพ่อเปาะ ) วัดช่องลม อ.เมือง จ.ราชบุรี
  50. พระธรรมวาทีคณาจารย์ ( หลวงพ่อเงิน ) วัดดอนยายหอม    อ.เมือง จ.นครปฐม
  51. พระครูสังฆวิชัย ( หลวงพ่อบุญธรรม ) วัดพระปฐมเจดีย์   จ.นครปฐม
  52. พระอาจารย์สำเนียง วัดเวทุนาราม  อ.บางเลน จ.นครปฐม
  53. พระอาจารย์เต๋ (หลวงพ่อเต๋) วัดสามง่าม  อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม
  54. พระอาจารย์แปลก วัดสระบัว อ.เมือง จ.ปทุมธานี
  55. พระครูปลัดทุ่ง ( หลวงพ่อทุ่ง ) วัดเทียนถวาย อ.เมือง จ.ปทุมธานี
  56. พระครูบวรธรรมกิจ (หลวงพ่อเทียน) วัดโบสถ์  อ.เมือง จ.ปทุธานี
  57. พระครูโสภณสมาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ) วัดหนองบัว   อ.เมือง จ.กาญจนบุรี
  58. พระครูวิสุทธิรังษี ( หลวงปู่ดี )  วัดเหนือ  อ.เมือง จ.กาญจนบุรี
  59. พระมุจจรินโมฬี (หลวงพ่อดำ) วัดมุจลินท์(วัดตุยง)  อ.หนองจิก จ.ปัตตานี
  60. พระครูรอด วัดประดู่  อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
  61. พระครูวิศิษฐ์อรรถการ ( พ่อท่านคล้าย ) วัดสวนขัน อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช
  62. พระครูสิทธิธรรมาจารย์ ( หลวงพ่อลี ) วัดโศกการาม อ.เมือง จ.สมุทรปราการ
  63. พระอาจารย์บุตร ( หลวงพ่อบุตร ) วัดใหม่บางปลากด อ.เมือง จ.สมุทรปราการ
  64. พระอาจารย์แสวง ( หลวงพ่อแสวง ) วัดกลางสวน อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ
  65. พระครูศิริสรคุณ ( หลวงพ่อแดง ) วัดท้ายหาด อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม
  66. พระครูสมุทรสุนทร ( หลวงพ่อแขก ) วัดพวงมาลัย อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม
  67. พระสุทธิสารวุฒาจารย์  ( หลวงปู่ใจ ) วัดเสด็จ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม
  68. พระอาจารย์อ๊วง ( หลวงพ่ออวง วัดบางวันทอง ) วัดบางคณาทอง  อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม
  69. พระครูไพโรจน์วุฒาจารย์ ( หลวงพ่อรุ่ง ) วัดท่ากระบือ   อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร
  70. พระครูวิเศษสมุทรคุณ ( หลวงพ่อฮะ ) วัดดอนไก่ดี อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร
  71. พระครูสักขิตะวันมุนี ( หลวงปู่ถิร ) วัดป่าเลไลย์   อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี
  72. พระอาจารย์แต้ม ( หลวงพ่อแต้ม ) วัดพระลอย อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี
  73. พระครูโฆษิตธรรมสาร ( หลวงพ่อครื้น ) วัดสังโฆ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี
  74. พระครูวรกิจวินิจฉัย ( หลวงพ่อพราหมณ์ ) วัดวรจันทร์   อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี
  75. พระครูสัมฤทธิ์ ( หลวงพ่อสัมฤทธิ์ ) วัดอู่ทอง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี
  76. พระวรพจน์ปัญญาจารย์ ( หลวงปู่เฮี้ยง วัดป่า ) วัดอรัญญิการาม จ.ชลบุรี
  77. พระครูธรรมาวุฒิคุณ ( หลวงพ่อฮวด ) วัดเสม็ด อ.เมือง จ.ชลบุรี
  78. พระครูธรรมธร (หลวงพ่อหลาย) วัดราศฎร์บำรุง  อ.เมือง จ.ชลบุรี
  79. พระอาจารย์บุญมี ( หลวงพ่อบุญมี ) วัดโพธิ์สัมพันธ์ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี
  80. พระพรหมนคราจารย์ ( หลวงพ่อดี ) วัดแจ้งพรหมนคร อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี
  81. พระครูศรีพรหมโสภิต ( หลวงพ่อแพ ) วัดพิกุลทอง     อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี
  82. พระชัยนาทมุนี ( หลวงพ่อนวม ) วัดบรมธาตุ อ.เมือง จ.ชัยนาท
  83. พระอาจารย์หอม (หลวงพ่อหอม) วัดชากหมาก อ.เมือง จ.ระยอง
  84. พระอาจารย์เมือง ( หลวงพ่อเมือง ) วัดท่าแพ    อ.แม่ทา จ.ลำปาง
  85. พระครูอุทัยธรรมธานี ( หลวงปู่ตี่ วัดท้าวอู่ทอง ) วัดท้าวอุ่ทอง อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี
  86. พระครูวิมลศีลจารย์ ( หลวงพ่อเส่ง ) วัดศรีประจันตคาม  อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี
  87. พระครูสุนทรธรรมประกาศ ( หลวงพ่อสมุย ) วัดโพธิ์ปากพลี อ.ปากพลี จ.นครนายก
  88. พระครูบาวัง วัดบ้านเด่น อ.เมือง จ.ตาก
  89. พระครูสวรรควิริยกิจ วัดสวรรคนิเวส อ.เมือง จ.แพร่
  90. พระครูจันทร์ ( หลวงพ่อจันทร์ ) วัดคลองระนง อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์
  91. พระครูสีลกิติคุณ ( หลวงพ่ออั้น ) วัดพระญาติฯ อ.พระนครศรีฯ จ.อยุธยา
  92. พระอาจารย์แจ่ม ( หลวงพ่อแจ่ม ) วัดวังแดงเหนือ อ.พระนครศรีฯ จ.อยุธยา
  93. พระครูเล็ก ( หลวงพ่อเล็ก ) วัดบางนมโค อ.เสนา จ.อยุธยา
  94. พระอาจารย์มี ( หลวงพ่อมิ ) วัดอินทราราม อ.เสนา จ.อยุธยา
  95. พระอาจารย์หวาน ( หลวงพ่อหวาน ) วัดดอกไม้   อ.บางปะหัน จ.อยุธยา
  96. พระอาจารย์หน่าย ( หลวงพ่อหน่าย ) วัดบ้านแจ้ง  อ.บางปะหัน จ.อยุธยา
  97. พระครูประสาทวิทยาคม (หลวงพ่อนอ) วัดกลาง   อ.ท่าเรือ จ.อยุธยา
  98. พระอาจารย์จง ( หลวงพ่อจง ) วัดหน้าต่างนอก อ.บางไพร จ.อยุธยา
  99. พระอธิการเจาะ ( หลวงพ่อเจาะ วัดประดู่โลกเชษฐ์ ) วัดประตูโลกเชษฐ์ อ.เสนา จ.อยุธยา
  100. พระอาจารย์ศรี ( หลวงปู่สีห์ ) วัดสระแก อ.พระนครศรีฯ จ.อยุธยา
  101. พระสุวรรณมุนี ( หลวงพ่อผัน ) วัดมหาธาตุ อ.เมือง จ.อยุธยา
  102. พระครูศุข ( หลวงพ่อทองศุข ) วัดโตนดหลวง อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี
  103. พระครูพิบูลย์ศีลาจารย์ ( หลวงพ่อผิน ) วัดโพธิ์กรุ   อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี
  104. พระครูทบ ( หลวงพ่อทบ วัดชนแดน ) วัดสว่างอรุณ อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์
  105. พระสวรรคนายก ( หลวงพ่อทองคำ วัดกลาง ) วัดสุวรรคคาราม อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย
  106. พระโบราณวัตถาจารย์ ( หลวงปู่ทิม ) วัดราชธานี วัดราชธานี จ.สุโขทัย
  107. พระครูปี้ วัดกิ่งลานหอย กิ่ง   อ.บ้านด่านลานหอย จ.สุโขทัย
  108. พระครูวิบูลย์สมุทร ( หลวงพ่อทองดี ) วัดเสด็จ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม

 

 

          พระเครื่องฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ได้มีการนำไปบรรจุกรุ ตามพระอารามสำคัญทั่วพระราชอาณาจักร 1,601,474 องค์ นอกจากนั้น ให้ประชาชนบูชา 3,240,846 องค์ 

          การจัดสร้างที่มีจำนวนมาก และยังคงหลงเหลือมาถึงปัจจุบันจำนวนมากพอสมควร จึงสามารถนำออกมาให้เช่าบูชาได้ตลอดเวลา เมื่อมีความจำเป็นต้องหาปัจจัยเพื่อทำการบูรณะส่วนใดส่วนหนึ่งของพุทธสถาน

          ปัจจุบัน พระเครื่องฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ยังพอมีให้ผู้ที่สนใจได้บูชา สอบถามได้ที่สำนักงานพุทธมณฑล ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม

 

พิกัด พุทธมณฑล

 

 
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%A1%E0%B8%93%E0%B8%91%E0%B8%A5
error: Content is protected !!
Scroll to Top
พระเครื่อง.net