” ดูกรอานนท์  ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอทั้งหลาย ธรรมวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย โดยกาลล่วงไปแห่งเรา “

หลวงปู่หลิว วัดไร่แตงทอง รุ่นสบายใจ

พระโชว์

หลวงปู่หลิว วัดไร่แตงทอง

เหรียญหลวงปู่หลิว วัดไร่แตงทอง

วัดไทรทองพัฒนา รุ่นสบายใจ

Luang Pu LIU

Watraitaengthong Temple Nakhon Pathom Province

 

สถานะ/ราคา :             พระโชว์

รายละเอียด : 

เหรียญหลวงปู่หลิว วัดไทรทองพัฒนา รุ่นสบายใจ  พ.ศ.2539 

 

          ตำนานพญาเต่าเรือน

          ในอดีต สมัยพุทธกาล มีผัวเมียคู่หนึ่ง อาศัยอยู่ริมแม่น้ำใหญ่ เป็นพญากาเผือก ตัวเมียได้ออกไข่มา 5 ฟอง อยู่มาวันหนึ่งทั้งคู่ได้ออกบินไปหากิน ทิ้งไว้แต่ไข่ทั้ง 5 ฟอง ให้อยู่ในรังกันลำพัง โดยไม่มีใครเฝ้า และในวันนั้นได้เกิดเหตุการณ์พายุเข้าอย่างรุนแรง ไข่ทั้ง 5 ฟองได้ถูกพายุพัดตกลงไปในแม่น้ำคนละทิศคนละทาง ทำให้ไข่พญาเผือกถูกสัตว์ต่างๆ เก็บไปเลี้ยงไว้

ฟองที่ 1  เต่าเก็บไปเลี้ยง

ฟองที่ 2  พญานาคเก็บไปเลี้ยง

ฟองที่ 3  พญาราชสีห์เก็บไปเลี้ยง

ฟองที่ 4  โคเก็บไปเลี้ยง

ฟองที่ 5  ฟองสุดท้าย งูเก็บไปเลี้ยง

 

          ไข่ทุกฟองเมื่อถูกเก็บไปเลี้ยง ก็มีพระโพธิสัตว์ต่างๆมาเสวยชาติตามผู้ที่เก็บมาเลี้ยง เพื่อบำเพ็ญบารมี และพญาเต่าเรือน หลวงปู่หลิวเล็งเห็นว่า เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นสิริมงคล เป็นสัตว์ที่มีอายุยืนยาว และมีศีลธรรม ท่านจึงนำมาเป็นแบบในการสร้างวัตถุมงคลที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน

          เมื่อปี พ.ศ. 2500 วัตถุมงคลของหลวงปู่หลิว ปณฺณโก ได้รับการสร้างขึ้นที่วัดสนามแย้ ซึ่งแต่ละรุ่นที่ถูกสร้างจะมีผู้กล่าวว่าได้รับประสบการณ์ที่ดีหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น เมตตามหานิยม ทำมาค้าขายขึ้น มีโชคมีลาภ มีเงินมีทอง ปราศจากโรคภัย คนในบ้านรักใคร่สามัคคี ปองดองกัน อยู่เย็นเป็นสุข

 

คาถา หลวงปู่หลิว

ให้ตั้งนะโม 3 จบ แล้วสวดมนต์ดังนี้

“ จะขอลาภหลวงปู่หลิว จะมะหาเถรา

สุวรรณะมามา ระชะมามา เพชรชะมามา

อาหาระมามา ขาทะนียะมามา โภชะนียะมามา

สัพเพชะนา พะหูชะนา สัพพะบูชา ภะวันตุเม

นะชาลีติ อาคัจฉัยยะ อาคัจฉาหิ ”

 

คาถาพญาเต่าเรือน

“ นะมะภะทะ นาสังสิโม สังสิโมนา สิโมนาสัง โมนาสังสิ นะอุทะกะ เมมะอะอุอะ ”

 


 

ประวัติหลวงพ่อหลิว

ประวัติย่อ
หลวงปู่หลิว ปณฺณโก
นามเดิม “หลิว” นามสกุล “แซ่ตั้ง” (นามถาวร)
บุตร คุณพ่อเต่ง แซ่ตั้ง คุณแม่น้อย แซ่ตั้ง
อาชีพ ทำไร่ ทำนา
เกิด วันพฤหัสบดีที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2448
ขึ้น 11 ค่ำ เดือนอ้าย (ปีมะเส็ง)
ณ หมู่บ้านหนองอ้อ ตำบลบ้านสิงห์
อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
พี่น้องร่วมบิดามารดาทั้งสิ้น 9 คน ชาย 5 คน หญิง 4 คน
สมรส นางหยด มีบุตรชาย 1 คน ชื่อ
นายกาย นามถาวร
อุปสมบท อายุ 27 ปี ณ พัทธสีมาพระอุโบสถ วัดโบสถ์ ตำบลบ้านเลือก อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี (ประมาณเดือน 7 ก่อนเข้าพรรษา พ.ศ. 2475 ปีวอก)
หลวงพ่อโพธาภิรมย์ แห่งวัดบำรุงเมือง เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่ออินทร์ วัดโบสถ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และมีพระอาจารย์ห่อ วัดโบสถ์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาจากพระอุปัชฌาย์ว่า “ปณฺณโก” อ่านว่า “ปัน-นะ-โก”
เมื่ออุปสมบทแล้วหลวงปู่หลิว ได้มาจำพรรษา ณ วัดหนองอ้อ หลังจากนั้นท่านได้ไปเรียนวิชาอาคม จากอาจารย์หม่ง ชาวกระเหรี่ยง, หลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ จังหวัดเพชรบุรี, หลวงพ่อคล้าย วัดสวนขัน จังหวัดนครศรีธรรมราช, หลวงพ่ออุ้ม จังหวัดนครสวรรค์ และคณาจารย์อีกหลาย ๆ ท่าน ทั้งที่เป็นภิกษุ และฆราวาส
หลวงปู่หลิว ท่านเป็นพระที่ไม่หยุดนิ่ง ท่านได้ไปจำพรรษา และบูรณะปฏิสังขรณ์ ยังวัดต่าง ๆ ดังนี้ คือ
วัดโศก จังหวัดสุพรรณบุรี
วัดท่าเสา, วัดสนามแย้, วัดไทรทองพัฒนา จังหวัดกาญจนบุรี
วัดไร่แตงทอง อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม
วัดหนองอ้อ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
สำนักสงฆ์ประชาสามัคคี ตำบลบ้านฆ้องน้อย อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี
หลวงปู่หลิวได้กลับมาจำพรรษา ณ วัดหนองอ้อ อีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2540 จนท่านละสังขารด้วยโรคชรา เมื่อวันจันทร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ.2543 เวลา 20.35 น. รวมอายุ 95 ปี 74 พรรษา
หลวงปู่หลิว ปณฺณโก นับเป็นผู้ทรงอภิญญา และมีพุทธาคมสูงส่ง ท่านเป็นผู้มีเมตตา พร้อมที่จะช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก ท่านพร้อมจะสร้าง พร้อมจะเสียสละ ให้กับบวรพุทธศาสนา ท่านไปอยู่ยังที่แห่งใด ก็เปรียบเหมือนดวงประทีปของที่นั้นจนท่านได้ชื่อว่า “พุทธบุตร” ทุกคนยกย่อง
ในช่วงที่หลวงปู่ยังมีชีวิตอยู่ ท่านได้ใช้ความสามารถต่าง ๆ ที่ท่านมีบูรณะปฏิสังขรณ์สร้างเสนาสนะต่าง ๆ ภายในวัด เช่น โบสถ์วิหาร ศาลาการเปรียญ โดยมิได้หยุด
หลวงปู่หลิว เคยตั้งปฏิธานด้วยสัจจะ 2 ประการ คือ
1. เลิกอบายมุข ทุกชนิด
2. เมื่อมีโอกาสจะสั่งสมบารมี ด้วยการสร้างเสนาสนะภายในวัด เช่น โบสถ์ วิหาร กุฏิ ศาลาการเปรียญ จนกว่าชีวิตจะหาไม่
ความปรารถนาอันแรงกล้าของหลวงปู่หลิว ปณฺณโก เป็นผลให้อำนาจบารมีของคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่สถิตทั่วจักรวาล ดลบันดาลให้ท่านมี “วาจาสิทธิ์” กับ “ญาณทิพย์” มาขจัดปัดเป่าความทุกข์โศก ของเหล่าบรรดาศิษยานุศิษย์ ได้อย่างเหลือเชื่อ ไม่ว่าจะยากดีมีจนท่านก็ช่วยเหลือจนหมดสิ้น

 

ปฐมวัย

          หลวงปู่หลิว ปณฺณโก มีนามเดิมว่า “ หลิว ” นามสกุล “ แซ่ตั้ง ” (นามถาวร) บิดามีนามว่า คุณพ่อเต่ง แซ่ตั้ง มารดามีนามว่า คุณแม่น้อย แซ่ตั้ง ท่านเกิดเมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2448 ขึ้น 11 ค่ำ เดือนอ้าย (ปีมะเส็ง) ที่หมู่บ้านหนองอ้อ ตำบลบ้านสิงห์ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี มีพี่น้องร่วมบิดา มารดาเดียวกันทังหมด 9 คน เป็นชาย 5 คน เป็นหญิง 4 คน (มีพี่ชาย 1 คน พี่สาว 1 คน มีน้องชาย 3 คน และน้องสาว 3 คน) ท่านเป็นบุตรคนที่ 3 ของครอบครัว
ครอบครัวของหลวงปู่หลิวอยู่ในชนบท ที่ห่างไกลความเจริญ บิดามารดามีอาชีพหลักคือ ทำนา ต่างคนต่างต้องช่วยกันทำมาหากินกันไปตามสภาวะ หลวงปู่หลิวในวัยเด็กมีความคิดเห็นที่แตกต่างจากเด็กในวัยเดียวกันอย่างสิ้นเชิงทนที่จะไปวิ่งเล่นตามประสาเด็กในวัยเดียวกันแต่หลวงปู่หลิวกลับมองเห็นความยากลำบากของบิดา มารดา และพี่ ๆ จึงได้ช่วยงานบิดา มารดา และพี่ ๆ อย่างขยันขันแข็ง ทำให้หลวงปู่หลิวเป็นที่รักใคร่ของบิดา มารดา ตลอดจนพี่ ๆ และน้อง ๆ เป็นอย่างยิ่ง ด้วยมีความขยันขันแข็ง ทำให้หลวงปู่หลิวได้เรียนรู้วิชาช่าง ควบคู่ไปกับการทำไร่ ทำนา เพราะบิดานั้นเป็นช่างไม้ฝีมือดีคนหนึ่ง
เมื่อเติบใหญ่หลวงปู่หลิว จึงมีฝีมือทางช่างเป็นเลิศ จนเป็นที่ยอมรับของชาวบ้านทั่วไป ในบางครั้ง
หลวงปู่หลิว ท่านต้องไปรับจ้างคนอื่นเพื่อให้ได้เงินมา ท่านต้องเดินทางไกลเพื่อไปทำงานบางครั้งไปกลับใช้ระยะทางประมาณ 20 กิโลเมตร ต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ นานา บางครั้งทำให้ท่านถึงกับล้มป่วยไปเลยก็มี ด้วยเหตุนี้จึงทำให้หลวงปู่หลิวมีความรู้เกี่ยวกับยาสมุนไพรมากมาย (เพราะหลวงปู่หลิวท่านมีลักษณะเด่นอยู่ในตัวคือ ท่านมี “ความจำ” เป็นเลิศ) นอกจากท่านจะเป็นช่างไม้ฝีมือดีแล้วท่านยังเป็นหมอยาประจำหมู่บ้านหนองอ้อ, ทุ่งเจริญ, บ้านเก่า และละแวกใกล้เคียงไปโดยปริยายใครมาขอตัวยากับท่าน ท่านก็ให้ไปทุกคน

 

ครอบครัวโดนรังแก

          ในอดีตนั้นเขตภาคกลางโดยเฉพาะ เพชรบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม กล่าวกันว่าเป็นแดนเสือ ดงนักเลง มีโจรผู้ร้ายโด่งดังมากมาย คนหนุ่มทั้งหลายกลุ่ม หลายถิ่นต่างตั้งกล่มเป็นโจรผู้ร้ายปล้นจี้สร้างอำนาจอิทธิพลในพื้นที่ของตน คนบางกลุ่มก็ตั้งกลุ่มเพื่อปกป้องคุ้มครองถิ่นของตน ครอบครัวหลวงปู่หลิวเองก็ได้รับความเดือดร้อนจากกลุ่มโจร ท่านได้พูดถึงเหตุการณ์ในตอนนั้นว่า “โยมพ่อโยมแม่และพี่ชายเป็นคนซื่อ ใจรมาขโมยวัว ขโมยควายก็มิได้ต่อสู้ขัดขืน ทำให้พวกโจรได้ใจทำให้วัดควายและข้าวของที่พยายามหามาด้วยความยากลำบากต้องสูญเสียไป อาตมาจึงเจ็บใจและแค้นใจ เป็นที่สุด แต่ทำอะไรมันไม่ได้”
ในบางครั้งโจรที่มาปล้นวัวควาย คุณพ่อเต่งและพี่ชายคนโดไม่เคยกล้า ที่จะเข้าขัดขวาง ขอเพียงแต่อย่าทำร้ายบุตรหลานก็เป็นพอ “ข้าวของเป็นของนอกาย ไม่ตายก็หาใหม่ได้”
หลวงปู่หลิวในช่วงนั้นก็เป็นวัยรุ่นเลือดร้อน ก็ทวีความโกรธแค้นมากขึ้น จึงคิดหาวิธีปราบโจรผู้ร้าย อย่างเด็ดขาดให้ได้ อันเป็นการช่วยตนเอง และชาวบ้านให้ปลอดภัยจากโจรผู้ร้ายต่อไป

 

เข้าป่าเรียนอาคม

          หลวงปู่หลิว ได้ชวนหลานชายผู้เป็นลูกของพี่ชาย และหลานชายผู้เป็นลูกของพี่สาว หนีออกจากบ้านไปแสวงหาอาจารย์ผู้มีวิชาอาคม ในดงกระเหรี่ยง เพื่อขอเรียนวิชาไสยศาสตร์ เพื่อนำมาปราบโจรผู้ร้าย ที่สร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านแทบทุกวัน ซึ่งหลานชายทั้งสองก็เห็นด้วย บนเส้นทางอันเป็นป่าเขาดงดิบด้านชายแดนไทย-พม่า มีป่าไม้รกทึบ อากาศหนาวเย็นด้วยจิตใจอันแน่วแน่ เด็กหนุ่มทั้ง 3 จึงรีบเร่งเดินทางให้ถึงจุดหมายโดยเร็วที่สุด
ป่าดงดิบสมัยก่อนนอกจากจะรกทึบแล้ว ยังเต็มไปด้วยไข่ป่าอันน่าสะพรึงกลัว ในระหว่างการเดินทางหลานชายผู้ซึ่งเป็นลูกของพี่ชายเกิดป่วยหนักด้วยโรคไข้ป่า ยารักษาก็ไม่มีเพราะไม่ได้เตรียมมา หลวงปู่หลิวจึงหยุดพักการเดินทางเพื่อรักษาไข้ป่าไปตามมีตามเกิด หลานชายทนความหนาวเหน็บและพิษของไข้ป่าไม่ไหว จึงได้สิ้นใจตายไปต่อหน้าต่อตาของหลวงปู่หลิวผู้เป็นอา และหลานอีกคน
ความรู้สึกในเวลานั้นทำให้พาลโกรธโจรผู้ร้ายมากยิ่งขึ้น ทางหลานชายเมื่อเห็นลูกพี่ลูกน้องของตนต้องมาตายจากไปจึงเกิดขวัญเสียไม่อยากเดินทางต่อไปตามที่ตั้งปณิธานเอาไว้ เพราะเกรงว่าหนทางข้างหน้าไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีก จึงเอ่ยปากชวนน้าชายกลับบ้าน แต่หลวงปู่หลิวได้ตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวแล้วว่าจะไม่กลับแน่นอน ถ้าไม่สำเร็จวิชา
หลังจากนั้นหลวงปู่หลิว ได้แยกทางกันกับหลานชายมุ่งหน้าสู่ดินแดนกระเหรี่ยง ด้วยจิตใจที่แน่วแน่ เมื่อไปถึงมีชาวกระเหรี่ยงที่พอพูดไทยได้บ้างก็เข้ามาสอบถาม หลวงปู่หลิวจึงได้บอก ความต้องการให้เขาฟัง
หลวงปู่หลิวโชคดีได้พบอาจารย์หม่งจอมขมังเวทย์ชาวกระเหรี่ยง จึงได้ขอฝากตัวเป็นศิษย์เพื่อเรียนวิชาอาคมด้วย ท่านใช้เวลาอยู่ในหมู่บ้านั้นนานร่วม 4 เดือน ถึงจะได้เริ่มเรียนวิชากับอาจารย์หม่ง อาจารย์ชาวกระเหรี่ยงให้ความเมตตาประสิทธิ์ประสาทวิชาให้อย่างเต็มใจ ระหว่างอยู่กับอาจารย์ หลวงปู่หลิวมีความมานะบากบั่นช่วยงานทุกอย่าง จนเป็นที่รักใคร่ของทุกคน สำหรับวิชาที่ได้ร่ำเรียนในขณะนั้นคือวิชาฆ่าคนโดยเฉพาะ เพื่อไปแก้แค้นโจรที่ลักวัวควาย หลวงปู่หลิวอยู่กับอาจารย์ชาวกระเหรี่ยงได้ 3 ปี กว่าจนถึงวัย 21 ปี ก็ศึกษาวิชาอาคมได้อย่างลึกซึ้ง ก่อนจะเดินทางกลับผู้เป็นอาจารย์ได้กำชับอย่างเด็ดขาดว่าวิชาอาคมต่าง ๆ ที่ประสิทธิ์ประสาทให้ ห้ามใช้จนกว่าจะถูกผู้อื่นทำรังแกทำร้ายอย่างถึงที่สุด เพราะมันเป็นวิชาฆ่าคน ท่านก็รับคำและเดินทางกลับบ้านเกิดด้วยความมุ่งมั่นจะแก้ไขปัญหาให้หมู่บ้านของตนจึงเดินทางกลับบ้าน เมื่อได้พบบิดา มารดาแล้ว หลวงปู่หลิวได้ลาท่านไปท่องเที่ยวอีกครั้ง

 

ใช้ควายธนูปราบโจรขโมยวัว

          ในฤดูฝนปีถัดมา หลวงปู่หลิวได้กลับจากท่องเที่ยว มาช่วยบิดามารดาทำไร่นาที่บ้านเกิดอีกครั้ง วัวควายที่เคยเลี้ยงอย่างระมัดระวัง ก็ปล่อยให้มันกินหญ้าตามสบาย เขาทำมาหากินได้ไม่กี่เดือนมีเพื่อนฝูงที่สนิทคนหนึ่งแจ้งข่าวให้ทราบว่า โจรก๊กหนึ่งจะเข้าปล้นวัวควายเขาในเร็ว ๆ นี้ หนุ่มหลิวก็เตรียมรับมือทันที แต่ไม่มีใครรู้ว่าเขาเตรียมตัวเช่นไร่ ทุกวันเขาทำตัวปกติมิได้อาทรร้อนใจกับเรื่องที่โจรจะเข้าปล้นกลางวันทำไร่ เลี้ยงควายไปตามเรื่อง ตกเย็นค่ำมืดกินข้าวกินปลาหากไม่มีเพื่อนแวะเวียนมาเยี่ยมเยียนเขาก็เข้านอนแต่หัววัน
อีกหลายสิบวันต่อมา คืนหนึ่งดึกสงัดเป็นวันข้างแรม ท้องทุ่งอันเวิ้งว้างมืดสนิทไร้แสงเดือน ท้องฟ้ามีแต่หมู่ดาวกลาดเกลื่นระยิบระยับไปทั่ว แต่ที่บ้านของหนุ่มหลิว มันเงียบแต่ไม่สงัด ร่างตะคุ่มหลายสายพากันเคลื่อนไหวเข้าใกล้เรือนที่มืดมืดของเขา ร่างเหล่านั้นมุ่งไปที่คอกวัวควายส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งคุมเชิงระวังภัยให้กับเพื่อน
ทันใดนั้น กลุ่มโจรที่เข้าไปเปิดคอกถึงกับตะโกนร้องอย่างตกใจ ระคนด้วยความหวาดกลัวแล้วแตกกระเจิงออกคนละทิศละทาง เสียงโวยวายร้องบอกให้เพื่อนหลบหนีดังขึ้นสลับร้องโหยหวนเจ็บปวด
เช้าตรู่ของวันใหม่ ท่านเอาวัวควายออกเลี้ยงตามปกติที่ไร่ แม้ว่ารอบบ้านจะมีร่องรอยเท้าคนย่ำอย่าสับสนและมีรอยเลือดกองเป็นหย่อม ๆ และกระเซ็นไปทั่ว เขาไม่ยี่หระวางเฉย เพียงแต่ก้มลงหยิบสิ่งหนึ่งที่หน้าคอกสัตว์ มันคือ รูปปั้นควายดินเหนียว ซึ่งเลอะไปด้วยเลือดเต็มเขาและหัวของมัน หรือว่าสิ่งนี้ คือ ”ควายธนู” ทำการขับไล่เหล่าโจรร้าย ไม่มีใครรู้นอกจากหนุ่มหลิวเพียงคนเดียว
ข่าวการใช้ควายธนุขับไล่โจรก๊กนั้นแพร่สะพัดไปทั่วหมู่บ้านและลือกันต่าง ๆ นานาว่าท่านเป็นผู้มีของดี ถึงกระนั้นก็ยังไม่วายมีมิจฉาชีพคิดอยากลองของ ด้วยการซุ้มรุมทำร้ายด้วยอาวุธนานาชนิด แต่มีด ปืนผาหน้าไม้ที่รุมกระหน่ำไม่สามารถทำอันตรายท่านได้แม้แต่น้อย แถมการที่ท่านสู้แบบไม่ถอยทำให้คนร้ายวิ่งหนีกันหัวซุกหัวซุน จากชัยชนะหลายครั้ง หลายหนต่อการรุกรานในรูปแบบต่างๆ สร้างความพอใจให้กับคนในหมู่บ้านบางรายถึงกับยกย่องให้เป็นวีรบุรุษ แต่ก็มีชาวบ้านบางพวกกับมองว่าท่านเป็นนักเลงหัวไม้
ในที่สุดหลวงปู่หลิวก็ปราบโจรลงอย่างราบคาบ จนโจรหลายคนต้องมากราบขออโหสิ และบางคนก็มาขอเป็นศิษย์ นับแต่นั้นมาชาวบ้านก็มีแต่ความสงบสุข ไม่ต้องหวาดผวาโจรผู้ร้าย บรรดาโจรผู้ร้ายหลายคนก็ได้กลับตัวกลับใจ ทำมาหากินด้วยความสุจริต อย่างชาวบ้านทั่วไป หลวงปู่หลิวได้กล่าวถึงพวกโจรขโมยวัวควายที่พ่ายแพ้ตนว่า “คนเราถ้าอยากจะชนะ ไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็ต้องเอาด้วยกล ไม่ได้ด้วยกล ก็ต้องเอาด้วยคาถา แต่เมื่อเขายอมรับผิด ยอมกลับตัวกลับใจ เราก็ควรให้อภัยแก่ผู้สำนึกผิดเป็นการให้ที่ประเสริฐและได้กุศลด้วย”

 

ชีวิตที่ยังไม่เปิดเผย

          ภายหลังที่หลวงปู่หลิวได้ปราบโจรเป็นที่เรียบร้อย และชาวบ้านอยู่อย่างสงบสุขแล้ว หลวงปู่หลิวก็ได้กลับมาทำไร่ ทำนาตามปกติ ตอนนี้ท่านได้แยกตัวออกมาทำงานของตัวเอง ท่านทำหลายอย่าง เผาถ่านท่านก็เคยทำ เก็บเห็นเผาะขายก็เคย รับจ้างทำไร่ก็เคย ตอนที่ท่านทำไร่นี่แหละ ท่านไปเจอแม่ม่ายคนหนึ่งชื่อ ”นางหยด” เกิดชอบพอกันขึ้นมา ก็เลยอยู่กินด้วยกัน และมีลูกชายด้วยกันคนหนึ่งคือ นายกาย นามถาวร ซึ่งเป็นวิถีชีวิตชาวบ้านธรรมดา ๆ ที่มีความรักเอื้ออาทรต่อกัน

 

สู่โลกธรรม

          เมื่อหลวงปู่หลิวได้ใช้ชีวิตอยู่กับนางหยด ระยะหนึ่งแล้ว ได้สัมผัสกับกระแสแห่งความวุ่นวายในสังคมมนุษย์ ความโลภ โกรธ หลง อวิชชา ตัณหา ราคะต่าง ๆ หลวงปู่หลิวเริ่มจับตามองความเป็นไปต่าง ๆ ด้วยความรู้สึกเบื่อหน่ายในสังคมทีละน้อย ๆ และความรู้สึกนั้นได้เพิ่มพูนมากขึ้น
จนกระทั่งหลวงปู่หลิวมีอายุได้ 27 ปี ได้เกิดความเบื่อหน่ายสุดขีด ในการแก่งแย่ง ชิงดีชิงเด่นกันตามสภาวะแห่งกิเลสตัณหา ราคะของชีวิตฆราวาส ซึ่งไม่ถูกกับนิสัยที่แท้จริงของตน คือรักความสงบชอบความสันโดษเรียบง่าย จิตใจของหลวงปู่เริ่มเองเอียงไปทางธรรมะธัมโม อยากจะเข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุในบวรพุทธศาสนา หลวงปู่หลิวจึงได้ขออนุญาตบิดา มารดา เพื่ออกบวชแสวงหาหนทางแห่งการหลุดพ้นจากอาสวะทั้งปวง ท่านทั้งสองก็เห็นดีเห็นงาม ด้วยความปลาบปลื้มเป็นล้นด้น ที่ลูกชายจะเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์
หลวงปู่หลิว ได้เข้าบรรพชาอุปสมบท ณ พัทธสีมาพระอุโบสถ วัดโบสถ์ ตำบลบ้านเลือก อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี (ประมาณเดือน 7 ก่อนเข้าพรรษา พ.ศ. 2475 ปีวอก) โดยมีหลวงพ่อโพธาภิรมย์ แห่งวัดบำรุงเมือง เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่ออินทร์ วัดโบสถ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และมีพระอาจารย์ห่อ วัดโบสถ์เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาจากพระอุปัชฌาย์ว่า “ปณฺณโก” อ่านว่า ปัน-นะ-โก เมื่ออุปสมบทแล้ว หลวงปู่หลิว ปณฺณโก ได้กลับมาจำพรรษา ณ วัดหนองอ้อ ซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้าน เพื่อเล่าเรียนทางพระปริยัติธรรมและปฏิบัติวิปัสนากรรมฐานควบคู่กันไปทั้งยังความสะดวกสบายกว่าที่อื่น ๆ เพราะมีญาติพี่น้องให้ความอุปัฏฐากอย่างใกล้ชิด
ในพรรษาแรกนั้น หลวงปู่หลิวได้มีโอกาสใช้วิชาช่างช่วยท่านเจ้าอาวาสสร้างศาลาการเปรียญหลังหนึ่งซึ่งใหญ่มากจนสำเร็จ
ต่อมาอีก 4 เดือนท่านได้ช่วยปรับพื้นศาลาเสร็จอีก และยังได้สร้างกี่กระตุก (ที่ทอผ้า) อีก 50 ชุด เพื่อถวายให้กับวัดหนองอ้อ จึงนับได้ว่าหลวงปู่หลิวไม่เคยหยุดนิ่ง ท่านมีพรสวรรค์ทางเชิงช่างเป็นเลิศ จนเป็นที่ยอมรับของครูบาอาจารย์ และญาติโยม ชาวบ้าน เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งภายหลังจะเห็นได้ว่า การก่อสร้างเสนาสนะต่าง ๆ ภายในวัดล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือของหลวงปู่หลิวทั้งสิ้น

 

เรียนอาคมเพิ่มบารมี

          หลังจากเสร็จภารกิจในการก่อสร้างเสนาสนะที่เป็นของวัดแล้ว หลวงปู่หลิวได้หาโอกาสเดินทางไปศึกษาวิชาอาคมเพิ่มเติมกับอาจารย์หม่งชาวกระเหรี่ยงอีกครั้งหนึ่ง “คราวนี้อาตมาเรียนทางเมตตา มหานิยม กับคงกระพันชาตรี วิชาฆ่าคนไม่เอาแล้ว เพราะเป็นนักบวช ไม่รู้จะเอาไปฆ่าใครประเดี๋ยวจะอาบัติ และขาดจากความเป็นภิกษุเสีย
เมื่อเรียนวิชาอาคมจากอาจารย์จอมขมังเวทย์ชาวกระเหรี่ยงแล้ว ท่านได้เดินทางไปเรียนวิชาลงอาคมอักขระยันต์ กับหลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ จังหวัดเพชรบุรี จากนั้นท่านได้ไปเรียนอาคมต่อที่สำนักของหลวงพ่อคล้าย วัดสวนขัน จังหวัดนครศรีธรรมราช และหลวงพ่ออุ้ม จังหวัดนครสวรรค์ ในระหว่างปี พ.ศ. 2481-2482 หลวงปู่หลิวท่านได้อยู่เรียนพระปริยัติธรรม คือเรียนนักธรรมตรีอยู่ในสำนักวัดหนองอ้อ แต่ท่านเรียนนักธรรมได้เพียง 5 เดือนเท่านั้น ท่านก็ต้องหยุดเรียน เพราะได้ใช้เวลาเหล่านี้ไปสร้างศาลาการเปรียญให้กับวัดโศก ในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี ประมาณกลางปี พ.ศ. 2482 หลวงปู่หลิว ท่านได้ย้ายไปจำพรรษา ณ วัดร้างในหมู่บ้านท่าเสา ท่านได้ใช้เวลาระหว่างจำพรรษาอยู่นั้นสร้างกุฏิสงฆ์ขึ้น 3 หลัง และพระอุโบสถอีกหนึ่งหลัง เมื่อทำการสร้างเสร็จ วัดบ้านท่าเสาก็มีพระภิกษุมาจำพรรษาพอสมควรแล้วไม่มีอะไรเป็นห่วงอีก ท่านจึงเดินทางกลับไปจำพรรษายังวัดหนองอ้อตามเดิม
ต่อมาในปี พ.ศ. 2484 ญาติโยมศาสนิกชน ชาวหมู่บ้านสนามแย้ ได้นิมนต์ให้หลวงปู่หลิวไปจำพรรษาอยู่ ณ วัดสนามแย้ จังหวัดกาญจนบุรี เพราะเป็นวัดเก่าแก่ที่กำลังทรุดโทรมลงมาก ขาดผู้ที่จะทำนุบำรุงให้อยู่ในสภาพที่เจริญรุ่งเรือง เมื่อหลวงปู่หลิวอยู่วัดสนามแย้แล้วท่านได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์เสนาสนะภายในวัดหลายอย่าง เช่น กุฏิ วิหาร ศาลาการเปรียญ และโบสถ์ จนมีความเจริญรุ่งเรือง เป็นวัดที่ใหญ่โตอีกแห่งในท้องถิ่น
หลวงปู่หลิวเป็นพระนักพัฒนาตัวอย่าง ผลงานและการสร้างวัดของท่านเป็นที่ประจักษ์ของชาวบ้านเป็นอย่างดี จนเป็นที่รู้จักชื่อของคนทั่วไป ท่านได้ทุ่มเทกำลังกายและกำลังใจให้ท้องถิ่นที่ท่านจำพรรษาได้มีความทัดเทียม กันกับท้องถิ่นอื่น ๆ แม้จะต้องเจอกับอุปสรรค หรือความยากลำบากของสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ นานาอุดมการณ์แห่งการสร้างสรรค์พัฒนาของหลวงปู่หลิว สืบสานดำเนินการต่อเนื่องในวัดสนามแย้ เป็นเวลายาวนานถึง 36 ปี ท่านเห็นว่าการทำงานของท่านเป็นการสมควรแก่เวลาแล้ว ควรกระจายความเจริญไปสู่ถิ่นอื่นบ้าน ท่านจึงอำลาญาติโยมเพื่อจาริกไปในถิ่นอื่นต่อไป
ในที่สุดหลวงปู่หลิว ท่านก็ได้สร้างวัดขึ้นมาใหม่ที่ตำบลจระเข้เผือก อำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งการเดินทางไปสร้างวัดใหม่ในครั้งนี้ มีคณะลูกศิษย์ ญาติโยมติดตามไปส่งเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านได้ร่วมกันบริจาคเงินเพื่อสมทบทุน ในการสร้างเสนาสนะให้กับวัดแห่งใหม่ ของหลวงปู่ด้วยความศรัทธา
ความเพียรพยายามที่ใช้เวลาในการสร้างยาวนานถึง 5 ปี วัดแห่งใหม่จึงได้แลดูเห็นเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา สิ่งก่อสร้างเสนาสนะต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาจากน้ำพักน้ำแรงของหลวงปู่หลิว ที่ท่านนำญาติโยมสาธุชนสร้างขึ้นมาในนาม “วัดไทรทองพัฒนา”
ในราวปี พ.ศ. 2523 ขณะที่หลวงปู่หลิว ปณฺณโก จำพรรษาอยู่ ณ วัดไทรทองพัฒนา ตำบลจระเข้เผือก อำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี ท่านได้เก็บสะสมเงินจากการบริจาคของญาติโยมจำนวนหนึ่ง มาซื้อที่ดินแปลงหนึ่ง ในเขตตำบลทุ่งลูกนก อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม แล้วมาทำการสร้างวัดขึ้นใหม่อีกแห่ง ให้ชื่อว่า “วัดไร่แตงทอง” เมื่อเสนาสนะอันจำเป็นแก่การจำพรรษาเรียบร้อยแล้ว ท่านจึงได้ย้ายมาจำพรรษา ณ วัดไร่แตงทองแห่งนี้ และด้วยความเคารพศรัทธาของศิษยานุศิษย์ในตัวหลวงปู่หลิว ปณฺณโก ทำให้สามารถสร้างและพัฒนาวัดไร่แตงทองให้เจริญรุ่งเรืองตามลำดับ
ถึงแม้ว่าวัดไร่แตงทองจะเป็นวัดที่กำลังเร่งพัฒนา หลวงปู่หลิวก็ไม่ละทิ้งที่จะช่วยเหลือวัดอื่น ๆ อย่างเต็มกำลังเรื่อยมา อาทิการสร้างพระอุโบสถให้กับวัดหนองอ้อ ซึ่งเป็นวัดบ้านเกิดของท่าน ซึ่งได้ทำการวางศิลาฤกษ์ไปเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 นอกจากนี้ท่านยังได้สร้างสำนักสงฆ์ประชาสามัคคี อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ตลอดจนสถานีอนามัยบ้านไร่แตงทอง (หลวงปู่หลิว ปณฺณโก อุปถัมภ์) เฉลิมพระเกียรติที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานเปิดเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2542

 

กลับสู่มาตุภูมิอีกครั้ง

          ในที่สุดวัดไร่แตงทองก็พัฒนาจนเป็นวัดที่เจริญรุ่งเรืองอีกวัดหนึ่ง หลวงปู่หลิวท่านจึงได้ลาออกจากการเป็นเจ้าอาวาสวัดไร่แตงทอง แล้วก็ได้ย้ายกลับมาจำพรรษา ณ วัดหนองอ้อ อันเป็นวัดบ้านเกิดของท่าน เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2540 ณ ที่แห่งนี้ท่านกลับมาจำพรรษาในฐานะเพียงพระลูกวัดรูปหนึ่ง เมื่อท่านมาอยู่ท่านก็ได้สร้างกุฏิขึ้นใหม่ด้วยเลาเพียง 5 เดือน นอกจากนี้ยังได้สร้างศาลาอเนกประสงค์ขนาดใหญ่ขึ้นอีกหนึ่งหลัก ในขณะเดียวกันหลวงปู่หลิวยังได้ช่วยก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ของวัดไทรทองพัฒนา เพื่อทดแทนหลังเก่าที่ชำรุดทรุดโทรมลง
หลวงปู่หลิว ปณฺณโก ท่านได้กล่าวทิ้งท้ายเกี่ยวกับการบำเพ็ญบารมีของท่านว่า
“ชีวิตการดำรงอยู่ในเพศแห่งบรรพชิต นอกจากจะต้องบำเพ็ญเพียรศึกษาธรรม ปฏิบัติธรรมวินัย เพื่อนำไปประกาศเผยแพร่ให้แก่สาธุชนคนผู้ปรารถนาความสงบสุขทางจิตแล้ว เราในฐานะเป็นพระสงฆ์เป็นพระ เป็นผู้นำทางจิตใจ ต้องมีส่วนในการพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญหูเจริญตา ทั้งทางจิตใจและสาธารณะวัตถุ อันเป็นประโยชน์แก่คนหมู่ใหญ่โดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง”
“การสร้างเสนาสนะวัดวาอาราม เป็นการชักนำให้ประชาชนได้บำเพ็ญทานบารมี รู้จักทำบุญเข้าวัดมีศาสนสถานไว้ประกอบศาสนกิจ เพื่อให้อนุรักษ์วัฒนธรรม ศีลธรรมอันดีงามของไทยสืบไป”
“คนอื่นเป็นสุข จิตเราเป็นสุขนี่แหละบารมีของเรา”
ถ้อยคำอุดมการณ์มองการไกลของหลวงปู่หลิว ปณฺณโก ช่างเป็นความคิดที่เหมาะสมกับความเป็นพระสุปฏิปันโน ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ไม่ยึดติดในลาภยศ นินทา สรรเสริญ เห็นประโยชน์ แก่สังคมเป็นส่วนใหญ่ 

 

กิจวัตรประจำวันของหลวงปู่หลิว

          หลวงปู่หลิว ปณฺณโก เป็นพระที่ถือสันโดษ ไม่ลุ่มหลงทั้งทางโลกและทางธรรม ท่านไม่รับและไม่ยินดียินร้ายต่อสมณศักดิ์ทางสงฆ์ แม้จะมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย อ้อนวอนให้หลวงปู่รับสมณศักดิ์ทางสงฆ์ หลวงปู่หลิวก็หายอมรับไม่
หลวงปู่หลิวขออยู่อย่างพระธรรมดาทั่วไป กุฏิหลวงปู่หลิว ไม่มีเครื่องปรับอากาศ ไม่มีทีวี ไม่มีตู้เย็น ไม่มีที่นอนอย่างดี ไม่มีเฟอร์นิเจอร์อย่างดีราคาแพง ท่านอยู่แบบสมถะ เป็นที่นับถือของบุคคลทั่วไปเป็นอย่างยิ่ง
ท่านมีบุคคลต่าง ๆ จากทั่วทุกสารทิศมาพึ่งบารมีขอพร ขอให้ท่านช่วยคลายทุกข์มากมาย หลวงปู่หลิวมีลูกศิษย์ทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และฮ่องกง
หลวงปู่หลิวนั้น เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่าท่านสมถะไม่หวังในยศถาบรรดาศักดิ์ ท่านพัฒนาทั้งทางธรรมและทางโลกโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน หลวงปู่หลิวนั้นท่านฉันอาหารอย่างง่าย อาหารที่หลวงปู่หลิวฉันทุกมื้อ คือ ผักต้มนิ่ม ๆ และมีมะระขี้นกทุกมื้อ น้ำพริก รสไม่เผ็ด แกงเลียง ข้ามต้ม ผัดหมี่ซั่ว ผลไม้ที่ท่านชอบมากคือ ทุเรียน นอกจากนั้น ท่านชอบฉันหมากเป็นประจำ
นอกจากหลวงปู่หลิวจะมีวัตรปฏิบัติที่เพียบพร้อมแล้ว หลวงปู่ยังมีอารมณ์ขัน จนเป็นที่ทราบของบุคคลใกล้ชิดทั่วไป และลูกศิษย์ลูกหาที่มาหา จนมีการรวบรวมอารมณ์ขันของหลวงปู่มาเป็นหนังสือได้ 1 เล่มทีเดียว

 

สิ้นแล้ว “หลวงปู่หลิว”

          เริ่มเข้ากลางปี พ.ศ. 2543 หลังจากพิธี พุทธาภิเษกวัตถุมงคลรุ่นเสาร์ 5 เป็นต้นมา หลวงปู่ก็เริ่มอาพาธ ด้วยโรคชรา  ปรัชญา อันลึกซึ้งของหลวงปู่หลิว ขณะที่ท่านอาพาธ ก็คือไม่ยินดียินร้ายกับการจะอยู่หรือจะไป ร่างกายของคนเราเป็นของผสม เมื่อถึงคราวแตกดับก็ต้องแตกดับ คือต้องตายทั้งนั้น ที่สำคัญคือ เมื่อมีชีวิตอยู่ต้องไตร่ตรองให้รู้ว่าเราเกิดมาทำไม อยู่เพื่ออะไร และจะใช้ชีวิตอย่างไร หลวงปู่หลิวเคยปรารภกับลูกหลานว่า ท่านเกิดที่หนองอ้อ ท่านก็อยากตายที่หนองอ้อ และหากว่าเมื่อถึงเวลาที่ท่านต้องจากไป ก็อย่าได้หน่วงเหนี่ยวท่านไว้ เพราะวัฏสงสารเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ จะยื้อยุดฉุดกระชากอย่างไร ก็ต้องพบกับความจริงข้อนี้วันยังค่ำ
ในค่ำคืนวันจันทร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2543 เวลา 20.35 น. หลวงปู่หลิวได้ละสังขารอย่าสงบท่ามกลางลูกหลานที่คอยมาดูใจเป็นครั้งสุดท้าย ที่กุฏิของท่าน ณ วัดหนองอ้อ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี รวมอายุ 95 ปี พรรษา 74 พรรษา แม้การจากไปของหลวงปู่หลิวจะไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้า แต่ลูกหลานและญาติโยมก็รู้แก่ใจดีหากท่านสั่งเสียได้ ท่านคงอยากบอกทุกคนให้เป็นคนดี เป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี ดังที่ท่านเคยปฏิบัติมาตลอดชีวิต 

 

การพัฒนาพระศาสนา และสาธารณประโยชน์ของหลวงปู่หลิว ปณณโก
          ด้วยปณิธานอันแรงกล้าของหลวงปู่หลิว ปณฺณโก ที่จะทำนุบำรุงพระศาสนา และพัฒนาสาธารณประโยชน์ จากความปรารถนาของหลวงปู่หลิว ปณฺณโก ที่ว่า
“เกิดมาชาติหนึ่งขอตั้งปฏิธานด้วยสัจจะวาจา 2 ประการ คือ
    ประการที่ 1.  งด ละ เลิกอบายมุข ทุกชนิด
    ประการที่ 2.  เมื่อมีโอกาสขอสั่งสมบารมี ด้วยการสร้างเสนาสนะ เช่น โบสถ์ วิหาร กุฏิ ศาลาการเปรียญ จนกว่าชีวิตจะหาไม่

          หลวงปู่หลิว ได้สร้างและบูรณะศาสนสถานต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นวัดวาอาราม โรงพยาบาล โรงเรียน สถานีอนามัยต่าง ๆ พอจะรวบรวมได้ดังนี้
1. สร้างศาลาการเปรียญให้กับวัดทองสามเหลี่ยม จังหวัดสุพรรณบุรี
2. สร้างวัดท่าเสา อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม
3. บูรณะวัดสนามแย้ จังหวัดกาญจนบุรี
4. สร้างวัดไทรทองพัฒนา ตำบลจรเข้เผือก อำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี
5. สร้างวัดไร่แตงทอง ตำบลทุ่งลูกนก อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม
6. บูรณะวัดหนองอ้อ ตำบลบ้างสิงห์ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
7. สร้างสำนักสงฆ์ประชาสามัคคี อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เป็นจำนวนเงิน 7,000,000 บาท
8. บูรณะพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม เป็นจำนวนเงิน 13,000,000 บาท
9. สร้างสถานีอนามัยบ้านไร่แตงทอง (หลวงปู่หลิว ปณฺณโก อุปถัมภ์) เฉลิมพระเกียรติ ตำบลทุ่งลูกนก อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม
10. บูรณะค่ายลูกเสือกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม
11. สร้างสำนักงานการประถมศึกษา อำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี
12. สมทบทุนสร้างพระอุโบสถ วัดเขาชะอางค์ อำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี เป็นจำนวนเงิน 2,000,000 บาท
13. สร้างวิหารหลวงพ่อเพชร วัดนางแก้ว อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
14. สร้างตึกผู้ป่วยในโรงพยาบาลกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เป็นจำนวนเงิน 9,739,345 บาท
15. สร้างสถานีอนามัยวัดไทรทอง อำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี
16. สมทบทุนสร้างโรงเรียนสมถะ อำเภอโพธาราม จังหวัดนครปฐม เป็นจำนวนเงิน 700,000 บาท
17. สร้างหอประชุมสำนักงานสาธารณสุข จังหวัดกาญจนบุรี
18. สร้างอาคารเรียน โรงเรียนวัดไทรทอง อำเภอด่านมะขามเตี้ย จังหวัดกาญจนบุรี
19. สมทบทุนสร้างหอสมุดประชาชน “เฉลิมราชกุมารี” อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เป็นจำนวนเงิน 1,000,000 บาท
20. สร้างศาลาฌาปนสถาน วัดหนองกระทุ่ม อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เป็นจำนวนเงิน 1,300,000 บาท
21. สมทบทุนสร้างพระอุโบสถวัดหนองอ้อ ตำบลบ้านสิงห์ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
22. สร้างศาลาเอนกประสงค์หลังใหญ่ ให้กับวัดหนองอ้อ ตำบลบ้านสิงห์ อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เป็นจำนวนเงิน 7,000,000 บาท
23. สร้างกุฏิหลวงปู่หลิว ปณฺณโก วัดหนองอ้อ เป็นจำนวนเงิน 4,298,860 บาท 

 


 

          วัตถุมงคลเหรียญหลวงปู่หลิวที่ได้รับความนิยม อาทิเช่น เหรียญ พญาเต่าเรือน เหรียญรุ่นแรก รุ่นเงินล้าน รุ่นเจ้าสัว รุ่นปลดหนี้ รุ่นสุขใจ รุ่นสบายใจ เต่าจิ๋ว เปิดโลก รุ่น3รวย  รุ่นมหาลาภ เป็นต้น

Luang Pu Liu 泰国佛牌 护身符

 

Facebook เพจ @AmuletLive   <<click

 

พิกัด วัดหลวงปู่หลิว วัดไร่แตงทอง กำแพงแสน นครปฐม

error: Content is protected !!
Scroll to Top
พระเครื่อง.net